หน้าแรก > ข้อมูล > รายละเอียดข่าว
เงินเฟ้อเดือนกันยายน เร่งตัวขึ้นแตะระดับ 1.68% ตามราคาสินค้าพลังงานที่สูงขึ้น
2021-10-21 17:14:43
more 
913
แพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้อง:

Headline Inflation September 2021

Actual: 1.68% Previous: -0.02%

KTBGM: 0.60% Consensus: 0.52%

  • กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกันยายน พลิกกลับมาเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 1.68% หลังมาตรการช่วยเหลือค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า สิ้นสุดลงขณะเดียวกัน ราคาสินค้าพลังงานก็ปรับตัวสูงขึ้นและยังคงเป็นปัจจัยหนุนเงินเฟ้อ

  • เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและยังมีแรงหนุนจากราคาสินค้าพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ช่วยพยุงเงินเฟ้อ โดยเรามองว่า หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพเพิ่มเติม เฉลี่ยทั้งปี 2564 เงินเฟ้ออาจกลับมาสู่ระดับ 0.9%-1.0% ได้

  • เรามองว่า ปัจจัยเสี่ยงที่อาจกดดันเงินเฟ้อ คือ ภาวะเศรษฐกิจที่อาจซบเซา หากประเทศไทยเผชิญการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงหรือเผชิญปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งอาจทำให้ รัฐบาลกลับมาใช้มาตรการลดค่าครองชีพช่วยเหลือเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ เรามองว่า โอกาสเกิดปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวยังมีไม่มากนัก

  • อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองว่า อัตราเงินเฟ้อจะยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มากเท่ากับ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้นเราจึงคาดว่า กนง. จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ไปถึงปี 2024 เพื่อประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจนกว่าจะกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติ

กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 1.68% เร่งตัวขึ้นจากระดับ -0.02% ในเดือนสิงหาคม

  • กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนล่าสุด ปรับตัวขึ้น 1.59% จากเดือนก่อนหน้า หนุนโดย การสิ้นสุดลงของ มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ด้านค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ที่ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายหมวดเคหสถานพุ่งขึ้น 6.24% จากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องกว่า 1.29% ก็เป็นอีกปัจจัยที่หนุนการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ส่วนราคาสินค้าอื่นๆ โดยรวมทรงตัวและเริ่มฟื้นตัวขึ้นบ้าง ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มทยอยดีขึ้น

  • เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 1.68% จาก -0.02% ในเดือนก่อนหน้า นับเป็นการเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราเงินเฟ้อ หลังการยุติมาตรการช่วยเหลือค่าน้ำ ค่าไฟ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายหมวดเคหสถานหดตัวชะลอลงเพียง -0.10% (เมื่อเทียบกับที่หดตัวกว่า -5.95% ในเดือนสิงหาคม) นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อยังได้แรงหนุนจาก ราคาสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับสูงและพุ่งขึ้นกว่า โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง +32.44% จากปีก่อน ส่วนราคาอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์โดยรวมลดลง -1.16% โดยเฉพาะ ราคาข้าว เนื้อสัตว์ และผักสดที่ราคาโดยรวมต่ำกว่าปีก่อน

  • กระทรวงพาณิชย์ มองว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง หากไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพเพิ่มติม โดยทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8%-1.2% โดยมีปัจจัยหนุนจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้น กอปรกับ แนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักหลังสถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้น และ แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและขนส่ง ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ มองว่าปัจจัยเสี่ยงการระบาดระลอกใหม่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังและอาจกลับมากดดันอัตราเงินเฟ้อได้ในอนาคต

แนวโน้มราคาสินค้าพลังงานที่อาจปรับตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด รวมถึงการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้เราปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2564 มาที่ 0.9%-1.0%

  • เรามองว่า แนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังการทยอยผ่อนคลาย Lockdown จะช่วยหนุนการใช้จ่ายและพยุงให้อัตราเงินเฟ้อฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ แนวโน้มราคาสินค้าพลังงานที่อาจปรับตัวขึ้นในช่วงที่หลายประเทศเผชิญปัญหาขาดแคลนพลังงาน จะยังเป็นปัจจัยหนุนอัตราเงินเฟ้อต่อไป ทำให้ เรามองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี อาจกลับมาสู่ระดับ 0.9%-1.0% ที่เคยประเมินไว้

  • อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่จะกดดันเงินเฟ้อ คือ ปัญหาการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรง รวมถึง ปัญหาน้ำท่วมหนัก ที่อาจทำให้ รัฐบาลกลับมาใช้มาตรการเยียวยาของภาครัฐเพิ่มเติม ซึ่งเรามองว่า ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวยังไม่น่ากลัวมากนัก เนื่องจากการแจกจ่ายวัคซีนสามารถทำได้ดีกว่าที่เราคาดไว้มาก ขณะเดียวกัน หากไม่มีพายุใหญ่ๆติดกันในเดือนตุลาคม เราคาดว่า เขื่อนสำคัญหลายเขื่อนยังมีความสามารถในการรับน้ำได้อีกมาก ลดโอกาสเกิดวิกฤติน้ำท่วมแบบปี 2011

  • แนวโน้มเงินเฟ้อจะเป็นอย่างไร อาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. มากเท่ากับ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเรามองว่า ความหวังการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจจากการเร่งแจกจ่ายวัคซีน รวมถึงการทยอยใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังของรัฐบาล จะช่วยให้ กนง. ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย และสามารถคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% ได้จนถึงปี 2024 เพื่อประคองให้เศรษฐกิจฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19

  • เราเชื่อว่า ผู้เล่นในตลาดบอนด์ต่างรับรู้แนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยไปมากแล้ว แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือ ดีมานด์ในแต่ละการประมูลบอนด์ในอนาคต เพราะหากผลการประมูลบอนด์ มีดีมานด์น้อยกว่าคาด ก็อาจทำให้บอนด์ยีลด์ไทยปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง ขณะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาว อาจผันผวนตามเทรนด์บอนด์ยีลด์ 10ปี ทั่วโลกปรับตัวขึ้น ตามความกังวลเงินเฟ้อและนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของบรรดาธนาคารกลางหลัก ซึ่งเรามองว่า มีโอกาสที่บอนด์ยีลด์ 10ปี ไทยจะค่อยๆ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.00% ได้ ซึ่งคาดว่า ระดับดังกล่าว อาจเห็นนักลงทุนบางส่วน รอเข้ามาซื้อ เพราะปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้แข็งแกร่งมากนัก

อัตราเงินเฟ้อประเทศไทย

พันธบัตรรัฐบาลไทย

 

คำสั่ง:
เนื้อหาของบทความนี้ไม่ได้แสดงถึงมุมมองของเว็บไซต์ FxGecko เนื้อหามีไว้เพื่อการอ้างอิงเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน การลงทุนมีความเสี่ยง เลือกอย่างระมัดระวัง! หากมีปัญหาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา ลิขสิทธิ์ ฯลฯ โปรดติดต่อเราและเราจะทำการปรับเปลี่ยนโดยเร็วที่สุด!

บทความที่เกี่ยวข้อง

您正在访问的是FxGecko网站。 FxGecko互联网及其移动端产品是中国香港特别行政区成立的Hitorank Co.,LIMITED旗下运营和管理的一款面向全球发行的企业资讯査询工具。

您的IP为 中国大陆地区,抱歉的通知您,不能为您提供查询服务,还请谅解。请遵守当地地法律。